เชื้อดื้อยา
  
คำใกล้เคียง
ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
คำแปล

คำนาม. เชื้อโรคที่ทนต่อ “ยาปฏิชีวนะ” (หรือที่มักถูกเรียกผิดๆ ว่า “ยาแก้อักเสบ”) ได้ หรือสามารถพูดได้อีกอย่างว่า เชื้อดื้อยาคือเชื้อโรคที่สามารถยับยั้งการทำงานของยาปฏิชีวนะได้ หรือแม้แต่ทำลายยาปฏิชีวนะได้ ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาไม่ได้ผลดีดังเดิม อาจต้องใช้เวลารักษานานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้น มีผลข้างเคียงของโรค หรือจากการรักษามากขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากขึ้น

 

“แต่ละปีเชื้อดื้อยาคร่าชีวิตคนไทยนับหมื่น เราต้องเร่งหามาตรการแก้ปัญหา”

 

“คนไทยเอะอะอะไรก็ใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้เกิดวิกฤติเชื้อดื้อยา”

 

“กระทรวงสาธารณสุขเตือน ป่วยเป็นหวัด เจ็บคอ ไอ ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ลดเชื้อดื้อยา”

 

“ผู้ป่วยโรคท้องร่วง ร้อยละ 95 ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากจะทำให้เชื้อแบคทีเรียที่มีตามธรรมชาติในร่างกาย กลายเป็นเชื้อดื้อยาได้”

 

คำใกล้เคียง

 

ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)

คำนาม. เชื้อแบคทีเรียที่สามารถยับยั้งการทำงานของยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาได้หลายชนิด 

คลังการเรียนรู้

เราควรสนใจเรื่องเชื้อดื้อยา?

 

ปัญหาเชื้อดื้อยากำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก วงการแพทย์ได้ใช้ยาเพนนิซิลิน และยาปฏิชีวนะอื่นๆ ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียหลากหลายชนิดมาตั้งแต่เกือบ 100 ปีที่แล้ว แต่มาถึงตอนนี้การติดเชื้อเเบคทีเรียหลากหลายชนิดเริ่มไม่สามารถรักษาได้ผลดี หรือมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น สาเหตุที่สำคัญคือ มีเชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น

 

ยาปฏิชีวนะ (ที่มักถูกเรียกผิดๆ ว่า “ยาแก้อักเสบ”) และยาต้านจุลชีพอื่นๆ หลายชนิดมีประสิทธิภาพลดลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มจะใช้ไม่ได้ผลในการรักษาการติดเชื้อนั้นๆ ในปี พ.ศ. 2559 องค์การอนามัยโลกเตือนว่าเรากำลังถอยหลังกลับไปสู่ยุคก่อนหน้าที่จะมียาปฏิชีวนะ ซึ่งจะมีคนเสียชีวิตกันมากขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วๆไป[1]

 

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุหลักของการเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ที่เลวร้ายกว่านั้น คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่ายาปฏิชีวนะมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ยาปฏิชีวนะไม่สามารถใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหวัดธรรมดา หรือโรคท้องเสียได้[2] สำหรับประเทศไทย ข้อมูลปี พ.ศ. 2552 พบว่ามีการผลิตและนำเข้ายาปฏิชีวนะสูงมากถึง 11,000 ล้านบาท และพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลในสถานพยาบาลทุกระดับ โดยพบการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลจำนวนสูงตั้งแต่ร้อยละ 25 ถึงร้อยละ 91

 

ในประเทศไทย คาดว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 88,000 คน ส่งผลทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาเสียชีวิต 43,000 ราย [3][4]

 

คนไทยมักมีความเชื่อว่ายาปฏิชีวนะเป็นยาครอบจักรวาล ไม่ว่าเป็นอะไรก็กินยาแก้อักเสบ ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะแท้จริงแล้วคำว่า "ยาแก้อักเสบ" เป็นคำติดปากที่ได้ยินคนเรียกกันบ่อย และเรามักคุ้นกับความรู้ที่ว่าเจ็บคอหรือบาดเจ็บให้รับประทานยาแก้อักเสบกันไว้ แต่เราไม่ได้รู้ว่าเรากำลังเรียกยาปฏิชีวนะอย่างผิดๆ ว่า "ยาแก้อักเสบ" และใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม[2]

 

เราควรรับประทานยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยโรคติดเชื้อแบคทีเรียก่อนที่จะสั่งยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วย ไม่ใช่ว่าเราจะรับประทานยาปฏิชีวนะตัวใดก็ได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าติดเชื้อไวรัสรุนแรง (เช่น ไข้หวัดใหญ่) ก็ต้องใช้ยาต้านไวรัส[2]

 

สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “เชื้อดื้อยา” ได้ที่

เชื้อดื้อยา (ผลิตโดย กพย.วันที่ 01/03/2559)

INFO Antibiotic Resistance วิกฤติการณ์เชื้อดื้อยา (ผลิตโดย Surachai Klunwaree วันที่ 07/17/2560) 

 
 
คลิป MU [by Mahidol] SuperBUG เชื้อดื้อยา (ผลิตโดยมหิดล แชนแนล วันที่ 07/11/2559)
 
 
เอกสารอ้างอิง

1 Pearson, C., & Pearson, C. (2015, December 28). ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของวงการสาธารณสุขโลก. Retrieved from https://www.voathai.com/a/health-antibiotic-resistance-tk/3121115.html

2 Suvetwethin, D. (2017, December 12). เชื้อดื้อยา ปัญหาวิกฤตระดับชาติ - Thaihealth.or.th | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). Retrieved from http://www.thaihealth.or.th/Content/39825-'เชื้อดื้อยา' ปัญหาวิกฤตระดับชาติ.html

3 Lim, C., Takahashi, E., Hongsuwan, M., Wuthiekanun, V., Thamlikitkul, V., Hinjoy, S., . . . Limmathurotsakul, D. (2016). Epidemiology and burden of multidrug-resistant bacterial infection in a developing country. ELife, 5. doi:10.7554/elife.18082

4 Pumart P., Phodha T., Thamlikitkul V., Riewpaiboon A.,Prakongsai P., Limwattananon S., (2012). “Health and economic impacts of antimicrobial resistance in Thailand”. J Health Systems Res. 6. 352-360.

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่